Palliative Care ดูแลอย่างไร

การป่วยเป็นโรคร้ายแรงไม่เพียงส่งผลต่อร่างกายผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังกระทบกับจิตใจและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด โดยเฉพาะครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วย Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคองเป็นหนึ่งทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ด้านร่างกาย เป็นการดูแลและบรรเทาอาการทางกายของผู้ป่วย เช่น อาการเจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หายใจลำบาก ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ด้านสภาวะอารมณ์ เป็นการลดความวิตกกังวล ความเครียด อาการซึมเศร้า ความกลัวของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งความเศร้าเสียใจของครอบครัวเมื่อวาระสุดท้ายของผู้ป่วยมาถึง โดยอาจให้ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ทำสมาธิ ฝึกลมหายใจ ฝึกผ่อนคลาย นวด และพูดคุยกับนักจิตบำบัด
  • ด้านจิตวิญญาณ เป็นการดูแลผู้ป่วยตามความเชื่อ แนวทางในการใช้ชีวิต หรือความเชื่อทางศาสนา เช่น การสวดมนต์ ทำบุญ และฟังการเทศนาจากนักบวช เพื่อให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบ มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และเข้าใจความหมายของชีวิต
  • ด้านสังคม เช่น ดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและบุคคลรอบตัว รวมถึงพ่อแม่ผู้ป่วย สามี ภรรยา ลูก หรือคนในครอบครัว เพื่อลดความเครียดในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งช่วยจัดหาผู้ดูแลและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วย
  • ด้านความเข้าใจ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจอาการของโรคและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา
  • ด้านการวางแผน เป็นการวางแผนการดูแลล่วงหน้าและทำหนังสือแสดงเจตนา (Living Will) ซึ่งเป็นหนังสือแสดงความปรารถนาและเป้าหมายของผู้ป่วย เพื่อให้สมาชิกครอบครัวหรือคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงการวิธีการรักษาและการดูแลในช่วงระยะท้าย ๆ ของชีวิต
  • ด้านอื่น ๆ เช่น ติดต่อผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษา การจัดสถานที่สำหรับรักษา เช่น ที่บ้านของผู้ป่วยหรือโรงพยาบาล รวมทั้งที่ปรึกษาในการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย เช่น เอกสารประกันชีวิต หนังสือมอบอำนาจ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการดูแล

เมื่อตัดสินใจเข้ารับการดูแล ผู้ป่วยและครอบครัวควรพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้และบุคลากรที่ให้การดูแลเพื่อรับทราบถึงอาการของโรค วิธีการรักษา ผลที่จะเกิดตามมา และร่วมกันวางแผนการรักษา โดยสอบถามผู้ป่วยว่าต้องการการดูแลรักษาแบบใดบ้าง ต้องการอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล หรือผสมผสาน และสถานที่ที่ต้องการอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น หากเลือกดูแลรักษาตัวที่บ้าน ผู้ดูแลควรขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน รวมทั้งฝึกทักษะการดูแลในเรื่องต่าง ๆ เช่น การให้อาหาร การให้ยา การจัดเตรียมที่พักให้เอื้อต่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย และเตรียมเบอร์โทรศัพท์ที่จะใช้ติดต่อกรณีฉุกเฉิน

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695

อ่านบทความ รู้จักการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย (Hospice Care) :
https://www.chanaruk-nursinghome.com/th/health-news/hospice-care/


ข้อมูลอ้างอิง : POBPAD
Image by Freepik

 

สาระสุขภาพอื่น ๆ