ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อผู้สูงอายุ

ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่าฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matter 2.5) ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ด้วยขนาดที่เล็กมาก ฝุ่น PM 2.5 จึงสามารถถูกสูดเข้าทางเดินหายใจไปยังปอด และบางอนุภาคอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนทั่วร่างกายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อวัยวะเริ่มเสื่อมถอยและภูมิคุ้มกันลดลง

  • อันตรายต่อทางเดินหายใจและปอด
    ฝุ่นละอองขนาดเล็กผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบหรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืด และอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้หากสูดฝุ่น PM 2.5 จนสะสมเป็นเวลานาน
  • อันตรายต่อหัวใจ
    การสูดหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดตะกอนภายในหลอดเลือดจนทำให้เกิดหัวใจวายได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลัน
  • อันตรายต่อสมอง
    เมื่อฝุ่น PM 2.5 ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและเลือดมีความหนืด จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในสมองและหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง หากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองส่วนต่างๆ จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติ เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม และอาการอื่นๆ ในสมอง

ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง
ผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอวัยวะต่างๆ รวมทั้งระบบหายใจจึงเสื่อมถอย การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง เมื่อเผชิญกับฝุ่นละอองผู้สูงอายุจึงมีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจชนิดต่างๆ และโรคหลอดเลือดในสมอง การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่น PM 2.5 ให้มากที่สุด

การป้องกันพิษฝุ่น PM 2.5

  • สวมหน้ากาก N95
    ป้องกันตัวเองจากการสูดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยการสวมหน้ากากปิดจมูกที่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองพิษได้สูง เช่น หน้ากาก N95 (กรองได้อย่างน้อย 95%) และหน้ากาก N99 (กรองได้มากถึง 99%) โดยต้องสวมอย่างถูกต้องตามวิธีที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ และไม่ควรนำหน้ากากใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่หากมีฝุ่นละอองมาก
  • เฝ้าระวังระดับมลพิษ
    ติดตามรายงานการตรวจสอบคุณภาพอากาศเป็นประจำ หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น เช่น IQAir AG หรือ Air Quality เพื่อเช็คคุณภาพอากาศบริเวณที่พักอาศัย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน
    การอยู่กลางแจ้งส่งผลให้ต้องสัมผัสและสูดดมละอองฝุ่นจำนวนมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้งควรงดในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือหายใจแรงอาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาละอองฝุ่นผง PM2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น
  • ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด
    ในช่วงที่มีมลพิษสูงควรปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด อาจใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านแม้อุณภูมิภายนอกไม่สูง หรือใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  • งดสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน
    การสูบบุหรี่หรือสูดกลิ่นควันอาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจและปอดอ่อนแอ เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นพิษในอากาศยิ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเกิดหอบหืดและมะเร็งปอด

ผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพกยาติดตัวเสมอ หากมีอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695

อ่านบทความภาวะสมองเสื่อม (Dementia):
https://chanaruk-nursinghome.com/th/health-news/dementia_signs/


ข้อมูลอ้างอิง: กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข, และ พญ.ชนัญญา ศรีหะวรรณ์
Image by Freepik

สาระสุขภาพอื่น ๆ