โรคหลอดเลือดสมองกับ "การร้องเพลง"

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแย่ลง คือ อาการผิดปกติของการพูดและความเข้าใจภาษา (Aphasia) หรือ การที่ผู้ป่วยพูดไม่ได้ พูดได้แต่นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจภาษา หรือมีปัญหาด้านการอ่าน-เขียน ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก สมองขาดเลือด การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ (head injury) หรืออาจจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จากเนื้องอกในสมอง (brain tumor) การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท รวมทั้งภาวะเสื่อมถอยของสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม

ที่ผ่านมามีหลักฐานทางวิชาการหลายชิ้นสนับสนุนการใช้ดนตรีบำบัด (Music Therapy) อาทิ การฟังและการเล่นดนตรี เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ฟื้นฟูสภาพร่างกายและอารมณ์ของผู้ป่วย ปัจจุบันผลการวิจัยจาก University of Helsinki พบว่า การร้องเพลงควบคู่ไปกับการรักษาสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพการสื่อสาร การตอบสนองด้านภาษา และการพูดโต้ตอบของผู้ป่วยได้ดีกว่าการรักษาแบบทั่วไป นอกจากนี้การร้องเพลงยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ช่วยลดความเครียด เพิ่มความจำและความสามารถในการแสดงออกทางความรู้สึกด้วย

อนึ่ง การบำบัดด้วยการร้องเพลงจะให้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความชอบและสภาวะทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่างกัน แม้การร้องเพลงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีแต่ไม่ควรใช้การร้องเพลงเพียงอย่างเดียวในการรักษา การรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ทำกายภาพบำบัดและจิตบำบัด ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695


ข้อมูลอ้างอิง:
- ผลการวิจัยจาก University of Helsinki
- รศ.ดร. จิรภรณ์ อังวิทยาธร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สาระสุขภาพอื่น ๆ