วิธีดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาลและครอบครัว การดูแลที่ดีจะลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ความพิการและการเสียชีวิต ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง และเตรียมพร้อมรับมือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ปัญหาที่พบและวิธีดูแล

  • การสื่อสารที่ลำบาก เนื่องจากสมองและระบบประสาทของผู้ป่วยได้รับความเสียหาย หรือเนื่องจากความบกพร่องในการสื่อความหมาย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อในการพูดได้ ผู้ป่วยอาจพูดไม่ชัด พูดแบบลิ้นแข็งๆ หรือพูดตะกุกตะกัก ผู้ดูแลจึงควรใช้คำถามสั้นๆ ง่ายๆ ชัดเจน หรือคำถามที่สามารถตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” อาจใช้รูปภาพหรือแสดงท่าทางประกอบ ที่สำคัญต้องรักษาบรรยากาศการสนทนาไม่ให้เกิดความตึงเครียด

  • การเคี้ยวและกลืนที่ลำบาก ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือ การเคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก ทำให้เกิดการสำลักที่อาจนำไปสู่อาการปอดอักเสบจากการสำลักและการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ดูแลควรเลือกอาหารที่ไม่ต้องเคี้ยวมาก ง่ายต่อการกลืน จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงขณะรับประทานอาหารและดื่มน้ำ กรณีที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารเหลวได้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำโดยใช้หลอดดูดเพื่อลดการสำลักและเป็นการบริหารกล้ามเนื้อในการเคี้ยว กรณีที่จำเป็นต้องให้อาหารทางสายยาง ผู้ดูแลต้องฝึกทักษะการให้อาหารและจัดเตรียมสูตรและการปั่นอาหารผสมที่เหมาะสม

  • อาการบวมที่แขน ขา ปลายมือและเท้า อาการบวมที่แขน ขา ปลายมือและเท้า ส่วนใหญ่มักจะเกิดในข้างที่มีอาการอ่อนแรง ผู้ดูแลควรใช้วัสดุอ่อนนุ่ม เช่น ผ้าห่ม หรือหมอนข้างหนุนรองแขน ขา ข้างที่บวมให้สูง ควรให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่านอนเป็นระยะ และควรลดอาหารเค็มโดยงดการเติมเกลือและน้ำปลาในอาหาร นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัด เช่น การจัดท่าในการลดบวม และการออกกำลังกายเพื่อลดบวมก็สามารถช่วยลดอาการบวมได้

  • การขับถ่ายไม่ปกติ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายและรับประทานอาหารได้ตามปกติจึงมักมีอาการท้องผูก ผู้ดูแลควรให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ มีการเคลื่อนไหวร่างกายและฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา

  • การนอนไม่ปกติ การนอนหลับของผู้ป่วยหลายท่านมีวงจรที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น นอนกลางวันนานขึ้น นอนไม่ค่อยหลับตอนกลางคืน หรือนอนหลับเป็นช่วงๆ ตื่นบ่อย ผู้ดูแลจึงควรจัดให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบในตอนกลางคืน และควรจัดกิจกรรมตอนเช้า เช่น ฝึกเดิน หรือออกกำลังกายเบาๆ

  • จิตใจและอารมณ์ไม่ปกติ อารมณ์เศร้าเป็นปัญหาทางจิตใจที่พบได้บ่อยที่สุดภายหลังผู้ป่วยเกิดโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้บางท่านอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ร้องไห้บ่อย ท้อแท้ แยกตัวไม่สนใจคนอื่นหรือสิ่งรอบตัว ผู้ดูแลควรเข้าใจปัญหา จิตใจ และความรู้สึกของผู้ป่วย ควรใจเย็นและอดทนช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย หมั่นให้กำลังใจ ไม่แสดงความรำคาญ และปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและให้การรักษาอย่างถูกต้อง

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย

  • หากผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลควรช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 1-2 ชั่วโมง ปรับระดับหัวเตียงสูงหรือพาผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง บริหารข้อต่อแขน ขา ด้วยการช่วยยืดเหยียดข้อต่อต่างๆ รอบละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ
  • หากผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ควรให้ผู้ป่วยพยายามทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง และทำท่ากายบริหารโดยมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ
  • หากผู้ป่วยสามารถเดินได้ ควรฝึกเดินในพื้นที่ปลอดภัยโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดินและมีผู้ดูแลอยู่ด้วย
  • การดูแลด้านจิตใจและอารมณ์ ผู้ดูแลควรให้กำลังใจในการทำกายภาพบำบัด ไม่กดดัน และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อผู้ป่วย

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695


ข้อมูลอ้างอิง: อ.พญ.ทิมภ์พร วิทูรพงศ์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Photo by truthseeker08 

สาระสุขภาพอื่น ๆ