โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะการเจ็บป่วยเฉียบพลันในระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต พิการ และนำมาซึ่งปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ นอกจากการดูแลของแพทย์แล้วครอบครัวคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ภาวะทางจิตใจและการเปลี่ยนแปลงที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ความวิตกกังวลและความเครียด มักพบในช่วงแรกหลังอาการป่วย ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายว่าจะสามารถกลับเป็นปกติได้หรือไม่ สังเกตได้จากสีหน้าท่าทาง อาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และอาจแสดงความก้าวร้าว
ภาวะซึมเศร้า เป็นปัญหาทางจิตใจที่พบได้บ่อยที่สุด พบมากในช่วง 3 เดือนแรกของการเกิดโรค ผู้ป่วยอาจมีอาการร้องไห้ตลอดเวลา เบื่อหน่าย ซึมเศร้าไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ขาดสมาธิ ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไร้ค่า ไม่มีความสามารถและสิ้นหวัง
พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยมีพฤติกรรมต่างจากเดิม เช่น หงุดหงิดและโกรธง่าย ร้องไห้บ่อย ท้อแท้ แยกตัวไม่สนใจคนอื่นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ไม่ยอมรักษา อนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นฐานบุคลิกภาพและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งลักษณะและความรุนแรงของโรคก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้และเข้าใจอาการที่เกิดขึ้น
แนวทางสำหรับครอบครัวในการดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ใส่ใจและให้กำลังใจผู้ป่วยตามความเป็นจริง และปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อการประเมินและให้รักษาอย่างถูกต้อง
- ทำความเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย
- ส่งความรักและกำลังใจให้ผู้ป่วยผ่านทางคำพูด สีหน้า สายตา และการสัมผัส
- หลีกเลี่ยงการตำหนิทั้งทางการพูด การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง
- ช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยในการฝึกออกกำลังกาย และส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สามารถทำได้
- หากผู้ป่วยต่อต้านและปฏิเสธการดูแล ครอบครัวควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบบ่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าทำอะไรเองได้หลายอย่าง และลดท่าทีต่อต้านเมื่อครอบครัวและญาติให้ความช่วยเหลือ
- จัดสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน วางเครื่องใช้ในบ้านให้ผู้ป่วยเดินหรือเคลื่อนไหวและสามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก
- กรณีผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาล ครอบครัวและญาติควรไปเยี่ยมสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695
อ่านบทความ สัญญาณโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ : chanaruk-nursinghome.com/th/health-news/depression_senior/
ข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย