ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack)

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวบางครั้งเรียกว่า mini-stroke หรือ TIA (Transient Ischemic Attack) เป็นการอุดตันชั่วคราวของการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ไขสันหลังหรือจอประสาทตา ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แต่ TIA มักแสดงอาการไม่ถึงห้านาทีหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยลิ่มเลือดจะละลายหรือหลุดออกไปได้เอง TIA สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนโดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุและจะไม่ทำลายเซลล์สมองหรือทำให้เกิดความพิการถาวรเช่นโรคหลอดเลือดสมอง แต่เป็น “สัญญาณเตือน" ของโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้ที่มีอาการ TIA มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองภายใน 90 วัน และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้มีอาการมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองภายใน 48 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่มีอาการต่อไปนี้ควรขอความช่วยเหลือและรีบพบแพทย์แม้ว่าขณะนั้นจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม

อาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

  • อาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรืออัมพาตด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • พูดไม่ชัด ทำความเข้าใจผู้อื่นได้ยาก
  • เห็นภาพซ้อนหรือมองไม่เห็นจากตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
  • อาการวิงเวียนศีรษะ เสียสมดุล
  • ปวดหัวอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน

ปัจจัยเสี่ยง

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจ
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • การสูบบุหรี่

การวินิจฉัยและการรักษา
อาการของ TIA อาจคงอยู่เพียงไม่กี่นาทีถึง 24 ชั่วโมง ทำให้การวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ท้าทาย ผู้มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงควรได้รับการประเมินที่ครอบคลุมภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ อาทิ การประเมินอาการและประวัติทางการแพทย์ การถ่ายภาพหลอดเลือดที่ศีรษะและคอ และการทดสอบอื่น ๆ เช่น การสแกนศีรษะด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจหลอดเลือดและสแกนภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย โดยหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วควรได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองต่อไป

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695

อ่านบทความ สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular Dementia) : 
https://www.chanaruk-nursinghome.com/th/health-news/vascular-dementia/


ข้อมูลอ้างอิง : American Stroke Association
Image by Freepik

สาระสุขภาพอื่น ๆ