"เตรียมความพร้อมก่อนฝึกเดิน” ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ความสามารถในการเดินที่ลดลงเป็นปัญหาที่พบได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ความผิดปกติของการเดินที่พบบ่อย เช่น การเดินเซไม่มั่นคง ขาดความสมดุลขณะเดิน ลงน้ำหนักที่ขาข้างอ่อนแรงได้น้อยกว่าขาข้างปกติ เดินได้ช้าลง ก้าวขาสองข้างไม่เท่ากัน และการเหวี่ยงขาไปด้านข้างขณะเดิน เป็นต้น ความผิดปกติเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะล้ม พื้นฐานก่อนการฝึกเดินที่เพียงพอจะช่วยให้การฝึกเดินมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ด้วยตนเองเร็วขึ้นและมีรูปแบบการเดินที่ดี

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเดิน

  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเดินเป็นการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพื่อให้ข้อต่ออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการลงน้ำหนักและถ่ายน้ำหนักไปในทิศทางต่างๆ กล้ามเนื้อลำตัวมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงของร่างกายขณะเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อแขนทำงานในทิศตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวของขาเพื่อช่วยการทรงตัว ขณะที่กล้ามเนื้อขาเป็นส่วนหลักที่ใช้ในการรับน้ำหนัก การฝึกกำลังของกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการยืนหรือลงน้ำหนักได้ด้วยตนเองจึงสำคัญ
  • การทรงตัว การเดินต้องอาศัยการทรงตัวที่ดีเพื่อรักษาความมั่นคงและป้องกันการล้ม การควบคุมการทรงตัวต้องใช้ระบบการรับรู้ต่างๆ ทั้งการมองเห็น การรับรู้ผ่านการสัมผัสและข้อต่อ การรับรู้ผ่านอวัยวะในหู และการแปลผลข้อมูลที่ซับซ้อนระดับสูง
  • การลงน้ำหนัก การลงน้ำหนักขณะเดินเป็นการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและข้อต่อร่างกายและขาเพื่อรองรับน้ำหนักของทั้งร่างกายขณะเดิน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีการลงน้ำหนักที่ไม่สมดุล โดยลงน้ำหนักข้างอ่อนแรงได้น้อยกว่าข้างปกติทำให้การทรงตัวไม่ดีและมีความเสี่ยงที่จะล้มขณะเดิน สังเกตได้จากผู้ป่วยอาจก้าวขาเร็วกว่าปกติขณะที่ขาข้างอ่อนแรงรับน้ำหนัก มีการเอียงตัวไปยังข้างที่รับน้ำหนักเพื่อช่วยในการถ่ายน้ำหนักและรักษาการทรงตัว หรือมีความรู้สึกไม่มั่นคงขณะเดิน
  • การรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อ การเดินต้องใช้การรับข้อมูลผ่านระบบการรับความรู้สึก เช่น การรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อ โดยสมองจะประมวลผลข้อมูลที่ได้เพื่อสั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ปกติ การรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อทำงานสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของร่างกายระหว่าง ศีรษะ ลำตัว แขนและขา ให้มีการทรงตัวและการทรงท่าที่เหมาะสม การฝึกกระตุ้นการรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อสามารถทำได้โดยการฝึกลงน้ำหนักโดยเฉพาะการฝึกบนพื้นที่ที่ไม่มั่นคง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ระบบการรับความรู้สึกทำงานได้ดีขึ้น
  • อาการเกร็ง ตึง และการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักมีอาการเกร็งหรือตึงของกล้ามเนื้อ การกระดกข้อเท้าขึ้นทำได้ลำบาก ความตึงตัวที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยมีการเดินที่ผิดปกติ เช่น การเหวี่ยงขาไปด้านข้าง หรือการยักสะโพกขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการเกร็งและไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อเป็นเวลานานอาจทำให้ข้อต่อยึดติดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ การลดอาการเกร็ง ลดความตึงของกล้ามเนื้อ การขยับข้อต่ออย่างถูกต้องและการเพิ่มมุมของข้อต่อให้เพียงพอสำหรับการเดินจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ดีขึ้น
  • สภาพจิตใจ ความมุ่งมั่นของผู้ป่วยที่จะกลับไปเดินได้ด้วยตนเองและแรงจูงใจในการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการเดิน กำลังใจและการสนับสนุนจากครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นฟูความสามารถในการเดินของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ควรเริ่มฝึกเดินตอนไหน

  • เมื่อสามารถยืนทรงตัวได้ด้วยตนเองอย่างน้อย 2 นาที
  • เมื่อสามารถลงน้ำหนักขาข้างอ่อนแรง ควบคุมกล้ามเนื้อลำตัวให้ตั้งตรง เหยียดข้อสะโพกและคุมข้อเข่าให้ตรงขณะที่ก้าวขาแข็งแรงไปข้างหน้าโดยใช้หรือไม่ใช้เครื่องช่วยเดินได้

ฝึกเดินอย่างไรให้ปลอดภัย
ก่อนการฝึกเดินควรเริ่มจากการฝึกทรงตัวในท่านั่ง ฝึกลุกขึ้นยืนและทรงตัวในท่ายืนให้ได้ดี ควรฝึกตามลำดับจากง่ายไปยากและให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วย ณ ขณะนั้น รวมถึงการฝึกความสามารถพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ การเพิ่มความแข็งแรงและการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ การทรงตัว การกระตุ้นการรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อ และการลงน้ำหนักข้างอ่อนแรง หากผู้ป่วยสามารถเริ่มเดินได้แล้วแต่ยังรู้สึกว่ายังเดินได้ไม่ดี ควรกลับมาตรวจสอบความสามารถพื้นฐานต่างๆ ว่ามีข้อบกพร่องใดบ้าง โดยสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ และออกแบบการฝึกเดินให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี 
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695


ข้อมูลอ้างอิง: ก.ภ.สุธางค์ ตัณทนาวิวัฒน์, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

สาระสุขภาพอื่น ๆ