การใช้ศิลปะร่วมในการบำบัด (Art Associated Therapy)

การใช้ศิลปะร่วมในการบำบัดและรักษาผู้ป่วยสูงอายุ ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพมาอย่างยาวนาน งานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ศิลปะมีประโยชน์หลายประการผ่านกลไกทางจิตวิทยาและสมองที่ซับซ้อน การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทํากิจกรรม เช่น การวาดภาพระบายสี และงานประดิษฐ์ จะช่วยลดความเครียดความวิตกกังวลและความกดดัน ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวกับการจำ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเยียวยาปัญหาด้านจิตใจ ลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ช่วยชะลอการเกิดภาวะอัลไซเมอร์ และสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุได้

รูปแบบของศิลปะบำบัด

  1. ทัศนศิลป์ (visual arts) ได้แก่ การวาด ระบายสี การปั้น การแกะสลัก การถัก การทอ การประดิษฐ์ ฯลฯ
  2. ดนตรี (music) ได้แก่ การเล่นดนตรี ร้องเพลง และกิจกรรมทางดนตรี
  3. การแสดง (drama) ได้แก่ การแสดง การละคร และการเคลื่อนไหวร่างกาย
  4. วรรณกรรม (literature) ได้แก่ บทกวี นิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ

การใช้ศิลปะร่วมในการบำบัดจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปในผู้สูงอายุแต่ละคน โดยนักศิลปะบำบัดจะพิจารณารูปแบบและใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละบุคคล ซึ่งเทคนิคสำคัญที่นำมาใช้ในกระบวนการทางศิลปะบำบัด คือ (1) การสนับสนุนเสริมสร้างกำลังใจ (supportive) ทำได้โดยให้ความสนใจ ให้กำลังใจ และการชมเชยเมื่อทำได้สำเร็จ หรือมีความพยายามเพิ่มขึ้น ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สงบ ปลอดภัย และท่าทีเป็นมิตร และ (2) การตีความหมายที่ซ่อนเร้นภายในจิตใจ (interpretation) ทำได้โดยการตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เห็น สีที่ใช้ ภาพที่วาด เพื่อให้ผู้รับการบำบัดเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

นักศิลปะบำบัดจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวผู้สูงอายุที่รับการบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถเล่าถึงความคับข้องใจของตน หรืออาจไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหา

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695


ข้อมูลอ้างอิง: นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต  

สาระสุขภาพอื่น ๆ