สัญญาณเตือนและการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

“โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมโดยเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในผู้มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป แต่อาจพบในผู้ที่อายุน้อยกว่าได้ เช่น ผู้ที่มีประวัติสมองเสื่อมในครอบครัว โรคอัลไซเมอร์ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ที่ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ยังรักษาให้หายขาดไม่ได้แต่สามารถชะลอการเกิดหรือลดอัตราการเสื่อมถอยของโรคได้

แนวทางการป้องกัน ชะลอการเกิด และลดอัตราการเสื่อมถอยจากโรคอัลไซเมอร์

  1. การบริหารสมองหรือการใช้ความคิด
  2. การบริหารจิตใจ ลดความเครียด ป้องกันหรือรักษาภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น
  3. การมีกิจกรรมบริหารร่างกายหรือการออกกำลังกายจะช่วยให้สมองเสื่อมช้าลง
  4. การมีกิจกรรมทางสังคมพบปะผู้คนจะช่วยกระตุ้นปฏิสัมพันธ์และกระตุ้นสมอง
  5. การเลือกรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัยครบ 5 หมู่ งดอาหารที่จะมีผลให้เกิดโรค เช่น รสเค็มหรือหวานเกินไป หรือมีไขมันสูง
  6. ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
  7. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลับให้ลึกอย่างมีคุณภาพ
  8. การฝึกสมาธิ

สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

  • หลงๆ ลืมๆ ความจำแย่ลง จำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ ถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ การรับรู้คลาดเคลื่อน จำทางกลับบ้านไม่ได้ เดินหลงในสถานที่ที่ไปเป็นประจำ
  • ลืมคนคุ้นเคย ลืมวันเวลา ไม่รู้เวลาไหนเป็นกลางวันกลางคืน ลืมคนใกล้ตัว จำชื่อไม่ได้
  • มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา ลำบากในการเลือกใช้คำ นึกคำพูดไม่ออก เขียนไม่ถูก เรียกของที่ใช้เป็นประจำไม่ได้
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง แสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม หงุดหงิดง่ายขึ้น แยกตัวจากสังคม จากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบโดยไม่มีสาเหตุ
  • สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง
  • ไม่เข้าใจภาพที่เห็น ลำบากในการกะระยะทางระหว่างสิ่งของกับตนเอง เช่น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ
  • วางของผิดที่และนึกย้อนไม่ได้ ลืมของไว้ในที่ไม่ควรวาง เช่น วางมือถือในตู้เย็น

เมื่อใดควรพบแพทย์
เมื่อปัญหาด้านความจำหรืออาการหลงลืมส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำกิจวัตรต่างๆ ได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้น หรือเมื่อพบสัญญาณเตือนข้อใดข้อหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อวางแผนการรักษาและวางแผนอนาคตให้ตนเอง

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695

อ่านบทความ การฝึกสมองชะลอความเสื่อมผ่านประสาทสัมผัส: chanaruk-nursinghome.com/th/health-news/sensory-brain-exercises/


ข้อมูลอ้างอิง:
รศ. นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผศ. พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

สาระสุขภาพอื่น ๆ