การทำกิจวัตรประจำวันเดิมๆ ทุกวันเหมือนทำโดยสัญชาตญาณอาจทำให้สมองไม่ได้ใช้พลังงานและไม่ได้รับการกระตุ้นที่มากพอ การบริหารสมองผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา-ดู, หู-ฟัง, ลิ้น-ชิมรส, จมูก-ดมกลิ่น และมือ-สัมผัส จะช่วยให้สมองมีความฉับไวและชะลอความเสื่อม ช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์และภาวะหลงลืมก่อนวัย
สมองเสื่อม คือภาวะที่สมองมีประสิทธิภาพลดลง หลายส่วนค่อยๆ สูญเสียการทำงานลงอย่างช้าๆ ปกติมักเกิดในผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป โดยแรกเริ่มผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำบกพร่องเพียงเล็กน้อย เช่น คิดคำพูดไม่ออก นึกถึงเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ วางของผิดที่ผิดทาง มีปัญหาในการลำดับเวลาและทิศทาง เป็นต้น ซึ่งอาจยังไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการหลงลืมเหล่านี้จะยิ่งมากขึ้นถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกับการตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ และกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ภาวะหลงลืมตามวัยกับภาวะสมองเสื่อม
- ภาวะหลงลืมตามวัย: สมองมีความถดถอยลงตามวัยโดยเห็นได้ชัดเจนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยมีอาการหลงลืมในเรื่องที่ทำอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อใช้เวลาคิดเล็กน้อยก็สามารถจำข้อมูลเหล่านั้นได้ ยังคงจดจำเรื่องราวสำคัญได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างได้ตามปกติ แม้มีอาการหลงลืมให้พบอยู่บ้าง อาทิ การลืมจุดจอดรถ ลืมว่าได้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยัง แต่อาการลืมเหล่านี้เกิดจากการขาดสมาธิขณะที่กำลังทำกิจกรรมไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อม การบำบัดด้วยการทำกิจกรรมฝึกสมาธิ และวิธีต่างๆ จึงมีส่วนในการช่วยชะลอภาวะหลงลืมได้
- ภาวะสมองเสื่อมที่นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์: ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจไม่ได้มีเพียงการหลงลืมแต่มีภาวะอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวร่วมด้วย ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตจากคนรอบข้าง อาทิ ภาวะเครียด บุคลิกภาพเปลี่ยนไป การแยกตัวออกจากสังคม การกะระยะผิดพลาด บอกความแตกต่างของสีไม่ได้ พูดหรือสื่อสารไม่ได้ใจความ และลืมเรื่องง่ายๆ เช่น สถานที่ที่เพิ่งไปหรือเหตุการณ์ในวันสำคัญ โดยการเสื่อมของสมองจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
วิธีฝึกสมองเพื่อชะลอความเสื่อมผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensory Brain Exercises)
- ลับสมองผ่านสายตา: เมื่อใช้สายตามองสิ่งเดิมทุกวันเราอาจกวาดสายตามองแบบผ่านๆ ด้วยความเคยชิน การมองของที่เห็นอยู่ทุกวันในทิศทางตรงกันข้ามเพื่อให้สมองได้ตีความสิ่งที่ตาเห็นซับซ้อนมากขึ้น เช่น กลับภาพวาดบนผนังจากแนวตั้งเป็นแนวนอน หรือการเล่นเกมจับผิดภาพ ใช้สายตาฝึกการสังเกตและทักษะทางความคิด ล้วนเป็นวิธีบริหารสมองที่ดี
- ลับสมองผ่านจมูก: ความคุ้นชินกับกลิ่นต่างๆ รอบตัว เช่น น้ำหอม ครีมอาบน้ำ ส่งผลให้สมองจดจำกลิ่นเหล่านั้นได้ทุกรายละเอียด การเปลี่ยนให้มีกลิ่นอื่นๆ เข้ามาทดแทนหรือสลับกลิ่นใหม่ในทุกสัปดาห์ จะเป็นการกระตุ้นต่อมความสามารถในการรับกลิ่นของสมอง เปิดโอกาสให้สมองได้เรียนรู้ และเพิ่มความสามารถในการจดจำกลิ่นใหม่
- ลับสมองผ่านลิ้นชิมรส: การฝึกสมองและต่อมรับรสด้วยการชิมอาหารแปลกใหม่ที่มีรสชาติซับซ้อนมากกว่าตาเห็น พยายามระบุส่วนผสมของอาหารหรือคิดวิธีปรุงอาหารเมนูใหม่ เป็นการใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนประสานกัน และยังเป็นการกระตุ้นสมองซีกขวา (Right hemisphere of cerebrum) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมความสามารถทางด้านศิลปะ งานประดิษฐ์ และการคิดค้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลับสมองผ่านการอ่าน (ออกเสียง): การเปล่งเสียงมีพลังกระตุ้นการเรียนรู้และจดจำ ให้สมองส่วน Wernicke's area ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ควบคุมความเข้าใจภาษาและเป็นคลังศัพท์เสียงช่วยสร้างแรงเสริมให้สมองที่เริ่มอ่อนล้ากลับมาตื่นตัว พร้อมกับให้สมองส่วน Broca’s Area ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการพูดและการออกเสียงให้ทำงานประสานกัน การเปล่งเสียงเป็นวิธีที่ช่วยลดภาวะความถดถอยของสมองได้ดี
- ลับสมองผ่านการสัมผัส: ร่างกายที่เคลื่อนไหวด้วยความคุ้นชินเป็นเหตุให้สมองสั่งการโดยขาดแรงกระตุ้น การทำกิจวัตรประจำวันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด อาทิ แปรงฟันด้วยมืออีกข้าง สลับมือเมื่อต้องการใช้กรรไกร กำแบเพื่อบริหารนิ้วมือและข้อพับซึ่งเป็นแหล่งรวมเส้นประสาทและเส้นเลือดที่เชื่อมตรงถึงสมอง ช่วงแรกของการฝึกอาจรู้สึกติดขัด แต่วิธีเหล่านี้จะช่วยให้สมองตื่นตัวได้ออกแรงควบคุมร่างกายแบบไม่หยุดนิ่ง
อาการหลงลืมสิ่งเล็กๆ ในช่วงแรกอาจเป็นสัญญาณเตือนให้ใส่ใจ ‘สมอง’ มากขึ้น การนำวิธีฝึกสมองผ่านประสาทสัมผัสมาปรับใช้วันละนิดร่วมกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและชะลอความเสื่อมของสมองได้
ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695
อ่านบทความ สัญญาณเตือนและการป้องกันโรคอัลไซเมอร์: chanaruk-nursinghome.com/th/health-news/alzheimer-signs-reducerisk/
ข้อมูลอ้างอิง: นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง