แนวทางสำหรับผู้ดูแลเมื่อเริ่มรู้สึก "ไม่ไหว"

ภาระการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะพึ่งพิงเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลาและก่อให้เกิดความตึงเครียดสูง ซึ่งหากผู้ดูแลมีปัญหาของตนเอง อาทิ ปัญหาสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ หรือฐานะทางการเงิน ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปผู้ดูแลอาจจะเกิดความเหนื่อยล้า (Caregiver burden) หรืออาการหมดไฟในการดูแล (Caregiver burnout) ได้ และเมื่อเกิดภาวะดังกล่าวผู้ป่วยอาจถูกทอดทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแล

  • ระดับความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพ และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วย
  • ปัญหาสุขภาพของตัวผู้ดูแลเอง
  • การได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ของผู้ดูแล

รู้ได้อย่างไรว่าผู้ดูแลกำลังจะหมดไฟ (Caregiver burnout)

เป็นธรรมดาที่ผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายในบางเวลา แต่หากมีความรู้สึกดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าตัวผู้ดูแลเองกำลังต้องการความช่วยเหลือ สัญญาณต่างๆ เช่น

  • อยากจะหนีไปให้พ้นความรับผิดชอบ ที่ดูเหมือนเพิ่มมากขึ้นทุกที
  • รู้สึกเหมือนกำลังรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เพียงคนเดียว
  • กิจวัตรประจำวันดูยุ่งเหยิง วุ่นวายและสับสนไปหมด
  • ไม่มีเวลาได้ออกนอกบ้าน เข้าสังคม หรือทำธุระส่วนตัว
  • การดำเนินชีวิตของผู้ดูแลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น การรับประทานอาหาร การนอนหลับ
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เบื่อหน่ายไปหมด
  • หงุดหงิด โกรธง่ายแม้กับสาเหตุเพียงเล็กน้อย
  • ไม่มีสมาธิจดจำสิ่งต่างๆ หลงลืมแม้แต่สิ่งสำคัญ
  • ใช้ยาหรือสารเสพติดมากกว่าเดิม เช่น ยานอนหลับ เหล้า บุหรี่

แนวทางป้องกันภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแล (Caregiver burden)

  • วางแผนการดูแลผู้ป่วยให้ดี อย่าให้เป็นภาระหนักที่ใครเพียงคนเดียวตลอดเวลา
  • หากเป็นไปได้ อาจจ้างผู้อื่นมาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้งๆ ไป เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อน ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อคลายความเครียด หรือทำธุระส่วนตัวบ้าง
  • แบ่งหน้าที่ด้านต่างๆ ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้รับผิดชอบร่วมกัน เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้ป่วยไปพบแพทย์
  • หาเวลาพูดคุยพบปะสังสรรค์ เข้าสังคมบ้าง นอกจากบรรเทาความเครียดแล้วอาจได้รับคำแนะนำในการแก้ปัญหาของตนเองได้
  • ดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • รู้จักการปล่อยวาง อย่าคาดหวังกับสิ่งรอบตัวสูงจนเกินไป เช่น อยากให้ผู้ป่วยหายขาดจนลุกมาเดินได้ รับประทานอาหารเองได้ หรืออยากให้สมาชิกครอบครัวทุกคนมาช่วยดูแลกันพร้อมหน้าตลอดเวลา
  • แบ่งเวลาให้กับบุคคลอันเป็นที่รักและบุคคลในครอบครัวของตนเองบ้าง แทนที่จะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ผู้ป่วยคนเดียว
  • สำหรับบางกรณี อาจจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยพักฟื้นในสถานพยาบาลบ้าง หากผู้ดูแลรู้สึกเกินกำลังแล้ว

 

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี

โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695


ข้อมูลอ้างอิง: อ.พญ.วัจนา ลีละพัฒนะ และ ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Photo by truthseeker08

สาระสุขภาพอื่น ๆ