การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia Training)

“ภาวะกลืนลำบาก” เป็นภาวะที่ร่างกายมีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร สามารถพบในผู้สูงอายุทั่วไปและผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทหรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน มะเร็งในช่องปาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การขาดสารอาหารและน้ำ สำลักอาหาร การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การบริหารกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนเพื่อประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวและการกลืนอาหารลงคอ ลดความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการพูด สื่อสาร และการออกเสียง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง และภาวะขากรรไกรติดแข็ง

การบริหารออกกำลังกล้ามเนื้อปากและลิ้น

1. ท่าบริหารกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก (ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกักเก็บน้ำและอาหารภายในช่องปากไม่ให้อาหารหกขณะกลืน)

  • อ้าปากกว้างแล้วออกเสียง “อา” 5-10 วินาที
  • เม้มปากแน่นแล้วคลายออก 5–10 รอบ
  • ทำปากจู๋ออกเสียง “อู” สลับกับฉีกยิ้มพร้อมออกเสียง “อี” 5–10 รอบ
  • กักลมในปากและค่อยๆ ปล่อยลมออกช้าๆ 5–10 รอบ

2. ท่าบริหารกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร (ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกัด การเคี้ยวและการบดอาหาร)

  • อ้าปากกว้างค้างไว้ 5 วินาที แล้วหุบปากให้ฟันกระทบกัน 5–10 รอบ
  • เคลื่อนขากรรไกรล่างไปด้านข้าง 5 วินาที สลับกันซ้ายขวา 10 รอบ
  • เคลื่อนขากรรไกรในลักษณะการเคี้ยวข้าว ทำซ้ำ 5–10 รอบ

3. ท่าบริหารกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม (ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูดน้ำหรืออาหาร)

  • ดูด เช่น ใช้หลอด ดูดน้ำ หรืออาจดูดของเหลวที่มีความหนืดข้นมาก เช่น เจลลี่ โยเกิร์ต และปล่อยออกมาโดยไม่ต้องกลืน

4. ท่าบริหารกลุ่มกล้ามเนื้อลิ้น (ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคลุกเคล้าอาหารภายในช่องปาก การดันอาหารที่คลุกเคล้าแล้วเข้าไปยังคอและหลอดอาหาร)

  • ลิ้นแตะมุมปาก 2 ข้างสลับกัน 10 รอบ
  • ลิ้นแตะกระพุ้งแก้ม 2 ข้างสลับกัน 5–10 รอบ และหากทำได้ดีให้ใช้นิ้วดันเพิ่มแรงต้านบริเวณแก้ม
  • แลบลิ้นออกมาด้านหน้า สลับกับหุบเข้าไปในปาก 5–10 รอบ และหากทำได้ อาจพิจารณาให้เลียไอศกรีมโดยให้ห่างออกมาทางข้างหน้าเล็กน้อย
  • เดาะลิ้น 5–10 รอบ
  • ออกเสียง “ลาลาลา” “คาคาคา” ซ้ำหลายๆ รอบ
  • ออกเสียง “คาลา คาลา คาลา” ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ใช้ขนมหรือน้ำหวานแตะบริเวณรอบริมฝีปาก และให้ใช้ลิ้นเลียรอบริมฝีปาก 5–10 รอบ
  • ยกลิ้นแตะเหงือกแล้วเคลื่อนลิ้นจากด้านหน้าไปด้านหลังซ้ำๆ
  • อ้าปากแล้วใช้ปลายลิ้นยกไม้กดลิ้นหรือไม้พันสำลีแตะค้างที่เหงือกหรือเพดานปากด้านบนไม่ให้หล่นลงมา 5–10 วินาที
  • ใช้ลิ้นเคลื่อนไม้กดลิ้นไปหามุมปากซ้ายและขวา 5-10 รอบ

เมื่อพบปัญหาภาวะกลืนลำบาก ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและควรได้รับคำแนะนำจากนักกิจกรรมบำบัดเพื่อให้สามารถกลืนได้อย่างปลอดภัย 

การบำบัดฟื้นฟูภาวะกลืนลำบากโดยนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist)

  1. การประเมินภาวะสำลัก และความเสี่ยงต่อการกลืน
  2. การกระตุ้นอวัยวะที่จำเป็นของผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการกลืน
  3. การออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้า ปาก ลิ้น คอ และคอหอย โดยใช้เทคนิคพิเศษเฉพาะ
  4. แนะนำอุปกรณ์การกลืน การดื่ม ในผู้ป่วยแต่ละราย
  5. การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อน (NMES) เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ใช้ในการกลืนโดยการเพิ่มความแข็งแรงและส่งเสริมการใช้งานให้ดีขึ้น

ชนารักษ์ เนอร์สซิ่งโฮม ราชบุรี
โทร 032-240339, 095-487-2839, 096-649-6695


ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,  และ ก.บ.ศศิชา จันทร์วรวิทย์ คณะกายภาพบำบัด  มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สาระสุขภาพอื่น ๆ